ไฟนอลแฟนตาซี XIV
ไฟนอลแฟนตาซี XIV | |
---|---|
ปกวิดีโอเกม ไฟนอลแฟนตาซี XIV (ฉบับสำหรับนักสะสม) | |
ผู้พัฒนา | Square Enix Business Division 5 |
ผู้จัดจำหน่าย | Square Enix |
กำกับ | Naoki Yoshida |
อำนวยการผลิต | Naoki Yoshida |
ออกแบบ |
|
โปรแกรมเมอร์ | Hideyuki Kasuga |
ศิลปิน |
|
เขียนบท | Kazutoyo Maehiro |
แต่งเพลง | Masayoshi Soken |
ชุด | Final Fantasy |
เครื่องเล่น | |
วางจำหน่าย |
|
แนว | MMORPG |
รูปแบบ | Multiplayer |
ไฟนอลแฟนตาซี XIV: อะเรียล์มรีบอร์น เป็นเกมออนไลน์แบบเล่นตามบทบาท (MMORPG) และเป็นส่วนหนึ่งของเกมในชุดไฟนอลแฟนตาซี ผลิตและพัฒนาโดยบริษัทสแควร์อีนิกซ์ กำกับและอำนวยการสร้างโดยนาโอกิ โยชิดะ ออกวางจำหน่ายพร้อมกันทั่วโลกในระบบไมโครซอฟท์วินโดวส์และเพลย์สเตชัน 3 เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 แทนการปิดตัวของเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับเดิม และมีฉบับสำหรับระบบเพลย์สเตชัน 4 กับโอเอสเท็นออกวางจำหน่ายในเวลาต่อมา เกมนี้ดำเนินเรื่องในโลกสมมติเอออร์เซียในช่วงเวลา 5 ปี หลังเหตุการณ์ในตอนท้ายของเกมฉบับเดิมที่ปิดตัวลง เมื่อมังกรบาฮามุตหนีออกมาจากคุกดวงจันทร์และทำให้เกิดภัยพิบัติอัมบราลครั้งที่เจ็ดซึ่งทำลายล้างอาณาจักรเอออร์เซียไปจนเกือบหมด แต่ด้วยพรของเทพ (ตามท้องเรื่อง) ได้ช่วยให้ตัวละครผู้เล่นทั้งหลายรอดจากภัยพิบัติและข้ามเวลามายัง 5 ปีในอนาคต ในขณะที่เอออร์เซียกำลังฟื้นตัว ผู้เล่นจะต้องมีหน้าที่รับมือกับภัยพิบัติการรุกรานครั้งใหม่จากอาณาจักรการ์แลนด์ทางตอนเหนือ
เกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับเดิมที่ออกจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 ประสบความล้มเหลวทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ โยอิชิ วาดะ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัทสแควร์อีนิกซ์ในขณะนั้นจึงตัดสินใจให้ทีมงานชุดใหม่ซึ่งนำโดยโยชิดะเข้ามาดูแลเกมนี้แทนทีมงานชุดเดิมเพื่อพยายามแก้ไขความผิดพลาด ทีมงานชุดใหม่นี้ผลิตเนื้อหาให้กับเกมฉบับเดิมไปพร้อมๆ กับสร้างเกมฉบับใหม่ซึ่งจะแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมด โดยเกมฉบับใหม่นี้แต่เดิมถูกเรียกว่า "เวอร์ชัน 2.0" ใช้เกมเอนจินตัวใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเซิร์ฟเวอร์ สร้างรูปแบบการเล่น ส่วนติดต่อผู้ใช้ และเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เกมฉบับเดิมปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 หลังจากนั้นอัลฟาเทสท์ของเวอร์ชัน 2.0 ก็เริ่มต้นขึ้น
เกมฉบับใหม่นี้ได้รับเสียงตอบรวมในทางบวกเป็นส่วนใหญ่ นักวิจารณ์ชื่นชมกลไกและการดำเนินไปของของเกมที่สอดประสานกันอย่างแน่นหนา และต่างชื่นชมโยชิดะที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ ผู้บริหารบริษัทสแควร์อีนิกซ์มองว่าการที่บริษัทพลิกกลับมามีกำไรใน ค.ศ. 2014 เป็นผลจากการที่เกมนี้มียอดขายและยอดผู้สมัครใช้บริการเป็นจำนวนมาก สถิติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 พบว่ามีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 24 ล้านคน และเป็นเกมไฟนอลแฟนตาซีที่มียอดขายสูงที่สุด[1] หลังจากออกจำหน่ายแล้วเกมนี้ยังมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาอีกหลายครั้ง ซึ่งในจำนวนนั้นมีภาคเสริมใหญ่อยู่ 4 ภาค ได้แก่ เฮเวนส์เวิร์ด (2015), สตอร์มบลัด (2017), ชาโดว์บริงเกอร์ (2019), เอนด์วอล์คเกอร์ (2021) และ ดอว์นเทรล (2024)
การเล่น
[แก้]ไฟนอลแฟนตาซี XIV เป็นเกมออนไลน์เล่นตามบทบาทในโลกสมมติ ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมในเกมได้ ผู้เล่นสามารถสร้างตัวละครและปรับแต่งตัวละครตามต้องการได้ โดยสามารถเลือกชื่อ เผ่าพันธุ์ เพศ หน้าตา และคลาสเริ่มต้นได้ มีส่วนที่ต่างกับเกมเวอร์ชันแรกตรงที่ผู้เล่นจะสามารถเลือกคลาสในกลุ่ม "Disciple of War" กับ "Disciple of Magic" ได้เท่านั้น ส่วนคลาสในกลุ่ม "Disciple of the Hand" กับ "Disciple of the Land" จะยังไม่มีให้เลือกในตอนเริ่มเกม[2] นอกจากนี้ผู้เล่นจะต้องเลือกเซิร์ฟเวอร์ให้กับตัวละครที่สร้างขึ้นด้วย แต่ละเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้มีกำหนดกลุ่มผู้เล่นหรือภาษาไว้เป็นการเฉพาะ แต่จะมีตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้สร้างให้การสนับสนุน เช่น อเมริกาเหนือ ยุโรป ญี่ปุ่น เพื่อลดความหน่วงของการเล่นเกม โดยผู้สร้างได้แนะนำให้ผู้เล่นเลือกสร้างตัวละครและเล่นเกมในเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่[3] แม้แต่ละเซิร์ฟเวอร์จะมีผู้เล่นหลากหลายภาษา แต่ในเกมก็มีระบบแปลภาษาให้กับคำและประโยคที่ใช้บ่อย เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละภาษาสามารถสื่อสารกันได้[4]
ส่วนติดต่อผู้เล่น
[แก้]หน้าจอของเกมและการควบคุมจะมีพื้นฐานเดียวกันทั้งการเล่นบนคอมพิวเตอร์และบนเครื่องเกมคอนโซล ผู้เล่นสามารถเลือกควบคุมเกมโดยใช้เมาส์และคีย์บอร์ดหรือใช้คอนโทรลเลอร์ก็ได้ โดยหากต้องการใช้เมาส์และคีย์บอร์ดบนเพลย์สเตชันก็สามารถเชื่อมต่อได้ผ่านการเสียบช่อง USB หรือผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สายก็ได้ การเข้าหน้าต่างๆ ของระบบโดยพื้นฐานบนเกมเวอร์ชันคอมพิวเตอร์จะใช้หน้าต่างที่สามารถลากย้ายได้เหมือนบนวินโดวส์ ส่วนบนเพลย์สเตชันจะใช้หน้าจอที่คล้ายกับ XrossMediaBar ที่ใช้บนเพลย์สเตชันอยู่แล้ว[5] ผู้เล่นสามารถเข้าถึงเมนูทั้งหมด แผนที่ บันทึกข้อความ และการตั้งค่าได้ผ่านบาร์นี้ ส่วนแสดงข้อมูลระหว่างการเล่น (head-up display) ของทั้งสองเวอร์ชันจะประกอบด้วย บันทึกข้อความ, เมนูสถานะปาร์ตี้, แผนที่ย่อส่วน, และแถบการกระทำ (action bar) โดยผู้เล่นสามารถปรับแต่งตำแหน่งและขนาดของส่วนแสดงข้อมูลเหล่านี้ได้ทั้งหมด[6]
แถบคำสั่งการกระทำและการต่อสู้แตกต่างกันเล็กน้อยในเวอร์ชันคอมพิวเตอร์และเวอร์ชันเกมคอนโซล โดยเวอร์ชันคอมพิวเตอร์หากผู้เล่นเลือกควบคุมด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด แถบคำสั่งจะเป็นรูปแบบกดเลือกด้วยเมาส์และใช้ปุ่มลัดบนคีย์บอร์ดเพื่อใช้คำสั่ง และสามารถใช้มาโครเพื่อตั้งค่าชุดคำสั่งตามต้องการได้ ส่วนเวอร์ชันเกมคอนโซล (หรือเวอร์ชันคอมพิวเตอร์ กรณีเลือกควบคุมด้วยคอนโทรลเลอร์) ปุ่มคำสั่งและมาโครจะถูกจัดเรียงในรูปกากบาท ผู้เล่นสามารถกดปุ่มไหล่บนคอนโทรลเลอร์และเลือกคำสั่งด้วยการกดปุ่มทิศทางหรือปุ่มคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว[5]
การพัฒนาของตัวละคร
[แก้]ผู้เล่นสามารถพัฒนาความสามารถของตัวละครได้โดยการเก็บค่าประสบการณ์ (EXP) เมื่อสะสมได้ถึงจำนวนหนึ่งตัวละครของผู้เล่นก็จะได้เพิ่มเลเวล และมีค่าสถานะต่างๆ สูงขึ้น ทำให้ต่อสู้ได้เก่งขึ้น ตัวละครผู้เล่นจะสามารถได้รับค่าประสบการณ์ได้จาก 4 ช่องทาง ได้แก่ การทำภารกิจหรือเควส, การลงดันเจี้ยน, การเข้าร่วมเฟต (FATE, Full Active Time Events), และการสังหารมอนสเตอร์ที่พบได้ทั่วไปในโลกของเกม[7]
ในเกมจะมีเควส ทั้งเควสเนื้อเรื่องหลักและเควสรอง เป็นภารกิจสั้นๆ ให้ผู้เล่นทำ โดยผู้เล่นจะต้องรับเคลสจากตัวละครเอ็นพีซี เมื่อทำเควสสำเร็จจะได้รับรางวัลต่างๆ โดยมักเป็นค่าประสบการณ์และเงินในเกม และอาจมีไอเท็มอื่นๆ ด้วย เมื่อผู้เล่นทำเควสเนื้อเรื่องหลักสำเร็จจะเป็นการดำเนินเนื้อเรื่องหลักของเกมไปเรื่อยๆ เควสอีกประเภทหนึ่งคือลีฟส์ เป็นเควสแบบทำซ้ำได้ ให้รางวัลเป็นเงิน ค่าประสบการณ์ และไอเท็ม โดยจำนวนครั้งที่ทำลีฟส์ได้ในแต่ละวันจะมีจำกัด
ระบบดันเจียนในเกมเป็นแบบ instance คือเมื่อผู้เล่นเลือกเข้าเล่นในดันเจียนจะมีการสร้างพื้นที่เฉพาะของดันเจียนนั้นขึ้นมา ผู้เล่นจะต้องทำภารกิจในดันเจียนให้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด ส่วนใหญ่แล้วเกมจะบังคับให้ผู้เล่นต้องร่วมทีมกับผู้เล่นคนอื่นเป็นปาร์ตีจึงจะสามารถเข้าดันเจียนได้ บางดันเจียนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องหลักที่ผู้เล่นจะต้องผ่านให้ได้เพื่อดำเนินเนื้อเรื่อง และบางดันเจียนเป็นดันเจียนเสริมสำหรับผู้เล่นที่ต้องการความท้าทายหรือต้องการรางวัลจากดันเจียนนั้นๆ[8]
มีระบบสุ่มภารกิจ (duty roulette) สำหรับให้ผู้เล่นเลือกสำหรับสุ่มทำภารกิจ (ดันเจียน, ไทรอัล, อื่นๆ) ที่เคยปลดล็อกแล้ว โดยผู้เล่นจะได้รับค่าประสบการณ์เพิ่มเติมพิเศษที่ปรับค่าตามเลเวลในขณะนั้น โดยสามารถใช้ระบบสุ่มได้วันละ 1 ครั้งในแต่ละหมวดหมู่ภารกิจ[9]
เฟตเป็นระบบใหม่ที่ให้ผู้เล่นจำนวนมากสามารถทำภารกิจร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในปาร์ตีเดียวกัน มีหลายรูปแบบ เช่น ร่วมกันปราบบอสที่ปรากฏตัว ณ สถานที่นั้นๆ, ป้องกันสถานที่นั้นๆ จากมอนสเตอร์จำนวนมาก, ปราบมอนสเตอร์ในพื้นที่ตามจำนวนที่กำหนด, และบุกโจมตีฐานที่มั่นของศัตรู เป็นต้น[8]
และสุดท้าย การต่อสู้กับมอนสเตอร์เพื่อเก็บค่าประสบการณ์ยังมีระบบเสริมคือบันทึกนักล่า (Hunting Log) เป็นภารกิจย่อยให้ผู้เล่นปราบมอนสเตอร์ชนิดที่กำหนดเพื่อแลกกับค่าประสบการณ์เพิ่มเติมพิเศษ
เมื่อผู้เล่นมีเลเวลสูงถึงระดับหนึ่ง การพัฒนาตัวละครจะเน้นไปที่การเพิ่ม "เลเวลไอเท็ม" ซึ่งจะเพิ่มได้โดยการหาอาวุธและชุดใหม่ๆ มาใส่ให้กับตัวละคร อาวุธและชุดเหล่านี้อาจได้มาโดยหลายวิธีด้วยกัน เช่น การลงดันเจียน ผลิต ซื้อ ได้จากการต่อสู้กับบอสในเหรด ในไทรอัล และจากการล่ามอนสเตอร์ตามหมายจับขั้นสูง (elite mark hunt)[10]
โหมดต่อสู้ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน
[แก้]นอกเหนือจากเนื้อหาในรูปแบบการเล่นแบบต่อสู้กับศัตรูในเกม (PvE) ดังกล่าวแล้ว เกมนี้ยังมีเนื้อหาในรูปแบบการเล่นแบบต่อสู้กับผู้เล่นด้วยกัน (PvP) ให้เลือกเล่นได้อีก 3 แบบ แบบที่หนึ่ง คือ รังหมาป่า (The Wolves' Den) เป็นสนามประลองให้ต่อสู้ระหว่างทีมผู้เล่นสองทีม ทีมละสี่คน แบบที่สอง คือ แนวหน้าการรบ (Frontlines) เป็นสนามรบขนาดใหญ่ ผู้เล่นจะต้องรวมทีมกับผู้เล่นคนอื่นรวม 24 คน ทีมไหนไปถึงตำแหน่งเป้าหมายได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ มีโหมดย่อยหลายโหมด แตกต่างกันในสถานที่และกฎย่อยๆ ตามท้องเรื่องแล้วโหมดนี้คือการซ้อมรบระหว่างเมืองใหญ่ทั้งสามเมืองในเกม ซึ่งในเบื้องหลังแล้วเป็นการถ่วงเวลาไม่ให้มีการครอบครองพื้นที่ที่มีวัตถุเวทมนตร์ฝังอยู่มากมาย และ แบบที่สาม คือ ไรวัลวิงส์ (Rival Wings) เป็นสนามแข่งที่ผู้เล่นจะควบคุมตัวละครลูกสมุน (minion) เข้าต่อสู้กับอีกฝ่ายตามเป้าหมายที่กำหนดในแต่ละรอบ
ระบบเศรษฐกิจในเกม
[แก้]ระบบเศรษฐกิจเสมือนในเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ขับเคลื่อนโดยผู้เล่นเป็นส่วนใหญ่ การแลกเปลี่ยนไอเท็มระหว่างผู้เล่นจะมีตัวกลางคือ "คนรับใช้" (retainer) ซึ่งเป็น NPC ที่ผู้เล่นสามารถฝากของไปขายบนกระดานค้าขาย (market board), ส่งไปทำภารกิจ (venture) เพื่อเก็บไอเท็ม, และเป็นพื้นที่เก็บไอเท็มเพิ่มเติมจากตัวละครของผู้เล่น[8] เงินจากการค้าขายจะถูกหักค่าธรรมเนียมเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในเกม ผู้เล่นทุกคลาสสามารถขายของเข้าไปในระบบได้ โดย Disciple of the Land สามารถเก็บวัตถุดิบจากจุดเก็บวัตถุดิบ (gathering point) ต่างๆ ในเกมมาขาย, Disciple of the Hand สามารถนำวัตถุดิบมาผลิตเป็นไอเท็มต่างๆ ได้, Disciple of War และ Disciple of Magic สามารถหาวัตถุดิบหายากได้จากการเอาชนะดันเจี้ยนและหาสมบัติในแผนที่ นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถสังเคราะห์มาเทเรียขึ้นมาจากอาวุธหรือชุดเกราะที่ใช้มานาน และนำไปขายหรือนำไปเพิ่มค่าสมรรถนะของอาวุธหรือชุดเกราะอื่นๆ ได้[11][12]
ระบบการผลิต (crafting) และการเก็บเกี่ยว (gathering) ในเกมเวอร์ชันนี้ถูกปรับปรุงจากเวอร์ชัน 1.0 โดยลดการสุ่มและการบังคับให้ผู้เล่นคาดเดาวิธีการต่างๆ[2] สำหรับอาชีพกลุ่ม Disciple of the Hand ผู้เล่นจะปลดล็อกสูตรผลิตไอเท็มได้ทันทีเมื่อเพิ่มเลเวลถึงระดับที่กำหนด ทักษะต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตไอเท็มก็ถูกปรับปรุงให้สามารถผลิตไอเท็มคุณภาพสูงได้โดยไม่ต้องเอาสกิลจากอาชีพอื่นๆ ที่เป็นสายผลิต ส่วน Disciple of the Land ก็จะสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเก็บไอเท็มชนิดไหนในขณะที่กำลังเก็บจากจุดเก็บเกี่ยว ต่างจากเวอร์ชันก่อนหน้านี้ที่ผู้เล่นจะได้ไอเท็มโดยการสุ่ม นอกจากนี้ยังมีบันทึกการเก็บเกี่ยวที่แสดงชื่อและตำแหน่งที่สามารถเก็บไอเท็มได้ตามจุดต่างๆ ในเกมอีกด้วย[13]
เนื้อเรื่อง
[แก้]ฉาก
[แก้]ไฟนอลแฟนตาซี XIV ดำเนินเรื่องในโลกในจินตนาการแห่งดาวเคราะห์ไฮเดลิน (Hydaelyn) ซึ่งมีทวีปใหญ่ 3 ทวีป มีภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมหลากหลาย บนดาวเคราะห์แห่งนี้มีดินแดนแห่งหนึ่งชื่อว่าเอออร์เซีย (Eorzea) ซึ่งประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ต่างๆ ได้แก่ นครกริดาเนีย (Gridania) ดินแดนแห่งป่าไม้ ล้อมรอบไปด้วยป่าหนาทึบนามว่าเดอะแบล็กเชราวด์ (The Black Shroud) หรือผ้าคลุมสีนิล ราชนครอุลดาห์ (Ul'dah) เมืองการค้า ตั้งอยู่ในทะเลทรายธานาลาน (Thalanan Desert) เมืองท่าลิมซ่าโลมินซ่า (Limsa Lominsa) ตั้งอยู่บนดินแดนลานอสเซียแห่งอนุทวีปวิลแบรนด์ และเทวนครอิชการ์ด (Ishgard) บนเทือกเขาหิมะแห่งโคเอร์ธาส ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอออร์เซียเชื่อมต่อกับทวีปใหญ่ซึ่งถูกปกครองโดยจักรวรรดิการ์เลียนและกองทัพ ฝ่ายการเมืองอื่นๆ ในดินแดนแห่งนี้ที่สำคัญได้แก่เหล่าชนเผ่าอมนุษย์ (beastmen) ซึ่งมีเหตุบาดหมางกับชาติต่างๆ อยู่เป็นระยะ ปราชญนครแห่งชาร์ลายาน (Sharlayan) ของผู้ทรงความรู้ทางตะวันตกเฉียงเหนือ และนครอาลามีโก (Ala Mhigo) ที่เคยถูกปกครองโดยจักรวรรดิการ์เลียนเมื่อครั้งเหตุการ์เลียนรุกรานครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อนเหตุการณ์ในเรื่อง นครทั้งสี่เคยรวมตัวเป็นปึกแผ่นในนามพันธมิตรแห่งเอออร์เซียก่อนที่จะแตกสลายเมื่ออิชการ์ดถอนตัวอย่างกะทันหัน สามนครที่เหลือจึงคงเป็นพันธมิตรแต่เพียงในนาม ความขัดแย้งนี้ยังทำให้นครมอร์โดนา (Mor Dhona) ถูกทิ้งร้าง ทั้งที่แต่เดิมเคยเป็นดินแดนที่มีสีสันอย่างมาก
ประวัติศาสตร์ของเอออร์เซียคือการวนเวียนระหว่างยุคสว่าง (Astral Era) กับยุคมืด (Umbral Era) โดยยุคมืดคือยุคของหายนะครั้งใหญ่ (Calamity) ยุคมืดที่หนึ่งคือจุดสิ้นสุดของยุคแห่งทวยเทพ หลังหมดยุคนี้เหล่าเทพทั้งสิบสอง (The Twelve) ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์แห่งเอออร์เซียได้ยุติการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกทั้งหลาย เมื่อจบยุคมืดก็จะเกิดการรู้แจ้งทั่วและการเจริญทางวัฒนธรรมเรียกว่ายุคสว่าง โดยยุคสว่างที่สามมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นยุคที่เกิดจักรวรรดิอัลลาแกน (Allagan Empire) ซึ่งมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงมากยิ่งกว่าในสมัยใหม่ ยุคมืดและยุคสว่างแต่ละคู่จะมีความสัมพันธ์กับธาตุพื้นฐานทั้งหก ได้แก่ ลม สายฟ้า ไฟ ดิน น้ำแข็ง และน้ำ เดิมชาวเอออร์เซียเคยเชื่อว่ายุคมืดที่หกจะเป็นยุคมืดครั้งสุดท้าย ความเจริญแห่งยุคสว่างที่หกจะคงอยู่ไปชั่วกาลนาน แต่ห้าปีก่อนเกิดเหตุการณ์ในเรื่องนี้ จักรวรรดิการ์เลียนได้จุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ จนนำไปสู่ยุคมืดที่เจ็ดอันเป็นยุคปัจจุบัน
ชาวการ์เลียนได้ศึกษาวิจัยในโครงการเมเทออร์จนค้นพบวิธีที่จะทำให้ดวงจันทร์น้อยดาลามุด (Dalamud) ตกลงมาสู่โลกเป็นอาวุธได้ แผนนี้นำโดยผู้ดำรงตำแหน่งเลกาตัสแห่งจักรวรรดินามว่าเนล วาน ดาร์นัส มีเป้าหมายที่จะทำลายเผ่าอมนุษย์และเทพอสูรของพวกมันด้วยดวงจันทร์น้อยดาลามุดและเข้ายึดครองสิ่งที่หลงเหลือหลังการทำลายล้าง นครทั้งสามเมื่อทราบแผนนี้ก็ได้ส่งกองทัพใหญ่แกรนด์คอมพานีของแต่ละนครมาร่วมต่อสู้ คณะนักผจญภัยคณะหนึ่งได้ปราบวาน ดาร์นัสลงสำเร็จแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการร่วงตกของดาลามุดได้ เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพแกรนด์คอมพานีและกองทัพรุกรานแห่งการ์เลียนที่สิ้นผู้นำบนที่ราบคาร์เทอโนในมอร์โดนา ขณะนั้นเองที่ดวงจันทร์น้อยดาลามุดแตกตัวออกเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วดวงจันทร์น้อยนี้คือคุกโบราณของอัลลาแกนที่คุมขังเทพอสูรมังกรบาฮามุต เมื่อบาฮามุตถูกปลดปล่อยจากคุกนี้ก็ออกอาละวาดทำให้เกิดเป็นหายนะครั้งใหม่ที่นำไปสู่ยุคมืดที่เจ็ด นักปราชญ์ชาวชาร์ลายานผู้หนึ่งนามว่าหลุยซวา เลเวเลอ ได้พยายามใช้พลังของเทพทั้งสิบสองในการคุมขังบาฮามุตอีกครั้งแต่ก็ล้มเหลว จึงได้ใช้พลังนั้นส่งเหล่านักผจญภัยข้ามเวลามายังอนาคต ที่เอออร์เซียจะต้องการพวกเขาอีกครั้ง
ตัวละคร
[แก้]ผู้เล่นรับบทบาทเป็นนักผจญภัยในเอออร์เซียระหว่างยุคมืดที่เจ็ด ที่ได้เข้าร่วมกับกองทัพ Grand Company หนึ่งในสามกองทัพ ได้แก่ The Order of the Twin Adder แห่งกริดาเนีย นำโดยคานอีเซนนาผู้ดำรงตำแหน่ง Elder Seedseer และเป็นผู้นำเหล่าเด็กแห่งพงไพร มีความสามารถหยั่งรู้คำพยากรณ์ได้, Immortal Flames แห่งอุลดาห์ นำโดยราบาน อัลดิน มนุษย์ชาวไฮแลนเดอร์จากอาลามีโก องครักษ์แห่งสุลต่านหญิงนานาโม อุล นาโม ราบานต่อสู้จนหลุดพ้นจากความยากจนด้วยฝีมือการต่อสู้ในโคลิเซียม, The Maelstorm แห่งลิมซ่าโลมินซ่า นำโดยพลเรือเอกเมิร์ลวิบ โบลฟิสวิน อดีตโจรสลัด ผู้กะเกณฑ์เหล่าโจรสลัดทั้งหลายมาอยู่ใต้บังคับบัญชาได้สำเร็จ พันธมิตรอื่นๆ ได้แก่มินฟิเลีย (Minfilia) และเหล่าไซออนแห่งอรุณรุ่งที่เจ็ด (Scions of the Seventh Dawn) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นใหม่จากการควบรวมคณะวิถีสิบสองเทพ (Path of the Twelve) และคณะแห่งการรู้แจ้ง (Circle of Knowing) ของอาร์คอนหลุยสวา ซึ่งเคยมีบทบาทในยุคสว่างที่หก สมาชิกของเหล่าไซออนได้แก่ ธานเครด (Thancred), อีดา (Yda), ปาปาลีโม (Papalymo), อูริอันเจร์ (Urianger), และยัชโตลา (Y'shtola) นอกจากนี้ยังมีหลานฝาแฝดชายหญิงของหลุยสวาที่เดินทางจากชาร์ลายาน ได้แก่ อัลฟิโน่ (Alphinaud) และอลิเซ (Alisaie) โดยมีเป้าหมายดำเนินตามเส้นทางของหลุยสวาเพื่อช่วยเหลือเหล่าชนชาติต่างๆ แห่งเอออร์เซีย สุดท้ายคือซิด การ์ลอนด์ หัวหน้าโรงตีเหล็กการ์ลอนด์ ซึ่งมีความรู้ทางเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถสร้างเรือเหาะและอาวุธต่างๆ ให้กับคณะพันธมิตรต่างๆ ได้
ศัตรูของเอออร์เซียคือจักรวรรดิการ์เลียนทางตอนเหนือ นำโดยเลกาตัสไกอัส วาน เบลซาร์ แห่งกองทัพที่สิบสี่ และเหล่าร้อยโทลูกน้อง ได้แก่ ลิเวีย ซาส จูนิอัส, ริทาทิน ซาส อาร์วินา, และ เนโร ทอล สเควา รวมไปถึงเผ่าคนป่าต่างๆ ที่พยายามอัญเชิญเทพอสูร จนทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่ว ทั้งจักรวรรดิและเผ่าคนป่าต่างถูกบงการโดยชาวแอสเซียน เผ่าพันธุ์ที่มีชีวิตอมตะผู้ลึกลับ มีเป้าหมายจะปลุกจอมเทพโซดิอาร์คให้คืนชีพ ซึ่งอาจทำลายล้างทุกสิ่งบนไฮเดลิน
เนื้อเรื่อง
[แก้]เมื่อเริ่มเกมจะเป็นฉากนิมิตของผู้เล่น กำลังถืออาวุธแห่งแสงตามอาชีพที่เลือกไว้เข้าต่อสู้กับชายชุดดำสวมหน้ากาก นิมิตนี้เป็นความฝันที่ผู้เล่นฝันถึงระหว่างเดินทางไปยังเมืองเริ่มต้นตามที่เลือกไว้ ได้แก่ กริดาเนีย อุลดาห์ และลิมซ่าโลมินซ่า (ส่วนผู้เล่นที่เล่นเกมต่อจากเวอร์ชัน 1.0 ตัวละครจะปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางแสงสว่างในป่าแห่งหนึ่ง หลังจากที่เวทมนตร์สุดท้ายของหลุยสวาได้ช่วยชีวิตผู้เล่นเอาไว้จากเหตุหายนะที่คาร์เทอโน ส่งตัวผู้เล่นข้ามเวลามายังปัจจุบัน) หลังจากที่ผู้เล่นได้ช่วยเหลืองานต่างๆ ให้กับคนในเมือง ก็ได้พบและเข้าร่วมกับคณะนักผจญภัยแห่งเมืองนั้นๆ และได้รับการยกย่องเทียบเคียงกับนักรบแห่งแสง ผู้เคยเข้าร่วมต่อสู้ในสมรภูมิคาร์เทอโน ซึ่งตัวตนของนักรบแห่งแสงถูกทุกคนลืมเลือนไปอย่างเป็นปริศนา ภารกิจต่างๆ หลังจากนี้ทำให้ผู้เล่นเริ่มพบจุดร่วมคือมีเหตุร้ายหลายครั้งที่มีชายสวมหน้ากากอยู่เบื้องหลัง และยังได้พบกับสมาชิกไซออนแห่งอรุณรุ่งที่เจ็ดซึ่งเชื่อว่ารู้ที่มาของนิมิตที่ผู้เล่นได้เห็น ในที่สุดผู้เล่นก็ได้พบกับผู้นำองค์กรลึกลับอันนี้ คือ มินฟิเลีย ซึ่งเปิดเผยว่านิมิตที่ผู้เล่นเห็น ก็คือผลของเสียงสะท้อน (The Echo) ซึ่งบ่งบอกว่าผู้เล่นเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากไฮเดลิน คริสตัลมารดร
ในฐานะสมาชิกใหม่เหล่าไซออน ผู้เล่นได้ติดตามธานเครดไปสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลักพาตัวและการขโมยคริสตัลตามเส้นทางค้าขาย จนได้พบว่าคนร้ายคือคนของเผ่าคนป่าอะมาลจา (Amalj'aa) ที่คอยจับตัวนักผจญภัยคนแล้วคนเล่าไปสังเวยให้กับเทพอสูรอิฟริต (Ifrit) ผู้เล่นก็พลาดท่าถูกจับตัวมาสังเวยเช่นกัน แต่พลังเสียงสะท้อนได้ปกป้องผู้เล่นเอาไว้ไม่ให้ถูกพลังของอิฟริตล้างสมองได้ ทั้งผู้เล่นยังสามารถต่อสู้และเอาชนะอิฟริตได้ จนได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ กองทัพแกรนด์คัมพานีแต่ละกองทัพได้ส่งทูตมาเชิญชวนผู้เล่นให้เข้าร่วม ในขณะที่เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงวีรบุรุษผู้ล่วงลับแห่งคาร์เทอโน ผู้เล่นก็ได้พบกับหลานฝาแฝดชายหญิงของหลุยสวา คืออัลฟิโน่และอลิเซ ทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเป้าหมายของพิธีกรรมชาตินิยมเช่นนี้คืออะไรกันแน่ จนทั้งสองเลือกจะแยกกันเดินทาง ภารกิจต่อไปของผู้เล่นคือการสานสัมพันธ์กับเหล่าคนป่าเผ่าซิลฟ์แห่งเดอะแบล็กเชราวด์ผู้รักสันติ แต่มีชาวซิลฟ์บางกลุ่มพยายามจะอัญเชิญเทพอสูรรามูห์มาปกป้องผืนป่าจากการรุกรานของจักรวรรดิการ์เลียน ในขณะที่ต้องตามหาผู้อาวุโสชาวซิลฟ์ผู้เล่นก็ได้พบกับลาฮาเบรอา ตัวจริงของชายสวมหน้ากาก ชาวแอสเซียนผู้เป็นอมตะ และมีเป้าหมายจะทำลายคริสตัลมารดร เหล่าไซออนโดยเฉพาะธานเครดตั้งใจจะสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูคนใหม่นี้
คนป่าเผ่าโคโบลด์ในลานอสเซียสั่งสมความโกรธเคืองต่อชาวโลมินซ่าที่บุกรุกดินแดนของพวกเขามาเนิ่นนาน จนในที่สุดก็ได้รวบรวมคริสตัลเพื่ออัญเชิญเทพอสูรประจำเผ่าของพวกตน คือไททัน ผู้เล่นได้รับมอบหมายให้ไปสอบถามข้อมูลการต่อสู้กับเทพอสูรนี้จากสมาชิกคณะผู้กล้าที่เคยปราบไททันและเลไวอาธันลงได้ในยุคสว่างที่หก หลังจากผ่านบททดสอบที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นกิจธุระเล็กน้อยผู้นำคณะผู้กล้าก็ได้เปิดเผยวิธีเข้าถึงถิ่นของไททันให้กับผู้เล่น ซึ่งทำได้โดยย้อนกระแสอีเธอร์ในคริสตัลสำหรับเทเลพอร์ตของเผ่าคนป่า แม้ผู้เล่นจะปราบไททันกลับไปสู่กระแสอีเธอร์ลงเป็นผลสำเร็จแต่ชัยชนะนี้ก็อยู่ให้ยินดีได้เพียงไม่นาน ลิเวีย ซาส จูนิอัส ผู้เป็นไทรบูนแห่งจักรวรรดิการ์เลียน ได้บุกเข้ามาในฐานที่มั่นของไซออน ที่เวคกิ้งแซนด์ด้วยความช่วยเหลือของชาวแอสเซียน นางได้จับตัวมินฟิเลียไปและสังหารสมาชิกไซออนที่อยู่ที่นั่นทั้งหมด ในขณะที่ผู้เล่นและสหายกำลังทำพิธีศพให้กับสหายผู้ล่วงลับ อัลฟิโน่ก็ทราบข่าวว่าเผ่าอิกซาลกำลังเตรียมอัญเชิญเทพอสูรการูด้า เขาเสนอแผนต่อกรกับการูด้าในที่มั่นของมัน แต่แผนนี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากวิศวกรเรือเหาะ ซิด การ์ลอนด์ ผู้สูญเสียความทรงจำ และทำงานเป็นผู้ช่วยในงานฝังศพ
ด้วยความช่วยเหลือของอัลฟิโน่และซิด ผู้เล่นเดินทางไปยังเทือกเขาหิมะโคเอร์ธาสเพื่อตามหาเรือเหาะเอนเตอร์ไพรส์ของซิดที่หายสาบสูญ ผู้เล่นได้ช่วยเหลือชาวอิชการ์ดด้วยการเปิดเผยแผนชั่วร้ายของพวกนอกรีตจนได้รับความไว้วางใจจากชาวอิชการ์ดผู้ซึ่งปกติจะไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ และได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปยังป้อมหินผา (the Stone Vigil) ที่ถูกยึดครองโดยเหล่ามังกรเพื่อค้นหาเรือเหาะเอนเตอร์ไพรส์เป็นผลสำเร็จ ซิดซ่อมแซมเรือเหาะและฟื้นความทรงจำมาได้ด้วยความช่วยเหลือของพลังเสียงสะท้อนของผู้เล่น เขาจึงจดจำได้ว่าเขาเป็นวิศวกรแห่งจักรวรรดิการ์เลียน เป็นผู้ทรยศมาอยู่ฝั่งเอออร์เซีย และเป็นนักประดิษฐ์อัจฉริยะ เรือเหาะเอนเตอร์ไพรส์ตัดผ่านพายุหมุนเข้าไปยังที่อยู่ของการูด้า และผู้เล่นก็เอาชนะการูด้าได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็เหมือนจะไร้ผล เมื่อเผ่าอะมาลจาและโคโบลด์อัญเชิญเทพอสูรของพวกตนมาอีกครั้ง และในขณะที่เทพอสูรทั้งสามกำลังจะเผชิญหน้ากันนั้นเอง เลกาตัสแห่งจักรวรรดิการ์เลียน ไกอัส วาน เบลซาร์ ก็นำจักรกลสงครามแห่งจักรวรรดิอัลลาแกนคืออัลติม่าเวพอนเข้ามาขวางไว้ และได้ให้เวพอนกลืนกินเทพอสูรทั้งสามตนลงไปเพื่อเพิ่มพลัง
เมื่อกลับมาถึงเวคกิ้งแซนด์ ผู้เล่นและคณะก็ได้พบกับเหล่าไซออนที่รอดชีวิต รวมไปถึงสถานที่ที่มินฟิเลียและคนอื่นๆ ถูกจับตัวไป ผู้เล่นและคณะตามไปช่วยเหลือได้สำเร็จ แต่ระหว่างนั้นก็ได้รับรู้ว่าธานเครดถูกลาฮาเบรอาเข้าสิงร่างระหว่างที่ออกสืบเรื่องราว มินฟิเลียและอัลฟิโน่บุกเข้าไปในที่ประชุมระหว่างผู้นำแกรนด์คัมพานีทั้งสามซึ่งกำลังถกเถียงกันว่าควรยอมแพ้ต่อจักรวรรดิการ์เลียนหรือไม่ สุดท้ายแล้วทั้งสามชาติตัดสินใจร่วมมือกันกับคณธพันธมิตรอื่นๆ เกิดเป็นพันธมิตรแห่งเอออร์เซีย ร่วมดำเนินปฏิบัติการอาร์คอนเพื่อตอบโต้ฐานที่มั่นจักรวรรดิการ์เลียนทุกที่พร้อมๆ กัน ผู้เล่นรับหน้าที่นำทีมจู่โจมเข้าไปยังเดอะเพรทอเรียมซึ่งเป็นที่อยู่ของอัลติม่าเวพอน ด้วยพรแห่งแสงจากไฮเดลิน ผู้เล่นประสบความสำเร็จในการแยกเอาอีเธอร์เทพอสูรออกจากตัวอัลติม่าเวพอนและทำลายมันลงได้สำเร็จ จากนั้นจึงดำเนินรอยตามนิมิตตอนต้นเกมด้วยการปราบลาฮาเบรอาในร่างของธานเครดลงด้วยดาบแห่งแสง เมื่อภัยคุกคามจากการรุกรานของจักรวรรดิการ์เลียนสิ้นสุดลง เหล่าผู้นำของแกรนด์คัมพานีก็ได้ประกาศการเริ่มต้นของยุคสว่างที่เจ็ดแห่งเอออร์เซีย โดยผู้เล่นได้รับการยกย่องเสมอเหมือนนักรบแห่งแสงในตำนาน
ยุคสว่างที่เจ็ด
[แก้]คณะไซออนเผชิญกับแรงกดดันให้เข้าร่วมกับกองกำลังของนครใดนครหนึ่ง จึงเลือกที่จะย้ายฐานที่มั่นไปยังเรฟแนนท์โทลล์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมตัวของนักผจญภัยในมอร์โดนาซึ่งเป็นดินแดนที่เป็นกลางทางการเมือง เพียงไม่นานก็มีข่าวว่ามีมูเกิ้ลกลุ่มหนึ่งพยายามอัญเชิญเทพอสูรพระเจ้ามูเกิ้ลม็อกที่สิบสองมหาราช โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวแอสเซียน หลังจากปราบมูเกิ้ลยักษ์ลงได้ ผู้เล่นในฐานะนักรบแห่งแสงก็ได้พบกับชาวแอสเซียนชุดคลุมขาวนามว่าเอลิดิบัส ซึ่งมาทดสอบความแข็งแกร่งของผู้เล่นก่อนจะหายตัวไป หลังจากนั้นไม่นานผู้ลี้ภัยจากนครโดม่าก็มาถึงมอร์โดนา นครแห่งนี้ถูกปกครองโดยจักรวรรดิการ์เลียน พวกเขาจึงเดินทางมายังอุลดาห์เพื่อขอลี้ภัย แต่กลับถูกปฏิเสธ อัลฟิโน่แนะนำให้เหล่าผู้ลี้ภัยมาอยู่อาศัยและทำงานในการก่อสร้างเรฟแนนท์โทลล์ ยูกิริ ผู้นำผู้ลี้ภัยชาวโดม่า แสดงความขอบคุณด้วยการร่วมเดินทางไปกับคณะผู้กล้าแห่งแสงเพื่อไปร่วมสืบลาดตระเวนถิ่นฐานชาวซาฮากินซึ่งกำลังอัญเชิญเทพอสูรเลไวอาธาน ผู้เล่นปราบเลไวอาธานลงสำเร็จโดยใช้คริสตัลมีตำหนิหนึ่งลำเรือ และได้รับความช่วยเหลือจากเรือรบเดอะเวิร์ลอีตเตอร์แห่งนครโลมินซ่า
อัลฟิโนสืบหาสาเหตุของการก่อจลาจลในหมู่ผู้ลี้ภัยชาวอาลามีโกในอุลดาห์ และพบกับสายลับของเทเลดจี อาเดเลดจี ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลคนหนึ่งในกลุ่มซินดิเคตที่ปกครองอุลดาห์อยู่ ราบานตั้งข้อสงสัยว่าอาเดเลดจีกำลังวางแผนลวงเพื่อจะเข้าครอบครองสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกพบในซากปรักหักพังของสนามรบคาร์เทอโน หนึ่งในนั้นคือซากที่หลงเหลือของโอเมกา สุดยอดอาวุธของอัลลาแกน ในป่าเดอะแบล็กเชราด์ พวกซิลฟ์ได้อัญเชิญเทพอสูรรามูห์เพื่อตัดสินว่านักรบแห่งแสงมีค่าคู่ควรจะเป็นผู้พิทักษ์แห่งโลกนี้หรือไม่ ก่อนจะจากไปอย่างเป็นมิตร ขณะเดียวกัน อัลฟิโนได้ก่อตั้งเดอะคริสตัลเบรฟส์ขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรที่เป็นกลางและมีกำลังทางทหารเพื่อพิทักษ์เอออร์เซีย ภารกิจแรกคือการสืบหาตัว "ไอวี" สายลับการ์เลียนทีทแทรกซึมเข้ามาอยู่ในระดับสูงของอิมมอร์ทัลเฟลม อีกด้านหนึ่งเซอร์อายเมอริกแห่งเทมเพิลไนท์ของอิชการ์ดได้เดินทางมาพบกับไซออนและคริสตัลเบรฟส์เพื่อขอความช่วยเหลือในการเฝ้าระวังผู้พิทักษ์แห่งทะเลสาบ-ซึ่งเป็นซากที่ผูกติดกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างยานรบการ์เลียนกับจอมมังกรมิดการ์ดซอมนร์ที่เคยต่อสู้กันเมื่อครั้งการ์เลียนบุกเอออร์เซียเมื่อสิบห้าปีก่อน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเทมเพิลไนท์อาสาจะกู้เสบียงและวัสดุก่อสร้างที่ต้องถูกส่งให้กับเรฟแนนท์โทล แต่โดนปล้นสะดมโดยผู้ติดตามของเลดี้ไอซ์ฮาร์ท คนทรยศแห่งอิชการ์ด
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การสร้าง
[แก้]เกมไฟนอลแฟนตาซี XIV เวอร์ชันแรกถูกพัฒนาภายใต้ชื่อรหัสแรปเจอร์ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2004 ถึงต้นปี ค.ศ. 2005 และประกาศตัวเมื่อ ค.ศ. 2009[14][15] กำกับโดยโนบุอากิ โคโมโตะ และอำนวยการสร้างโดยฮิโรมิจิ ทานากะ ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับไฟนอลแฟนตาซี XI และใช้เอนจินคริสตัลทูลส์ซึ่งสแควร์อีนิกซ์พัฒนาขึ้นเองและใช้กับไฟนอลแฟนตาซี XIII[15][16] หลังจากผ่านพ้นช่วงเบต้าเทสที่มีขึ้นเพียงสั้นๆ และพบข้อผิดพลาดมากมาย[16][17] เกมนี้ก็วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 โดยได้รับคำวิจารณ์ในทางลบอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์[18] หลังจากพัฒนาส่วนเสริมออกมา 2 ชุดในช่วงทดลองเล่นฟรี โยอิจิ วาดะ ซึ่งเป็นประธานบริษัทสแควร์อีนิกซ์ในขณะนั้น ได้ออกหนังสือขอโทษผู้ปล่นอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2010 และประกาศว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทีมพัฒนาเกม ที่สำคัญได้แก่ การถอดนาทากะออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง การลดตำแหน่งโคโมโตะจากผู้กำกับเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบ การยกเลิกค่าธรรมเนียมรายเดือนของเกมโดยยังไม่มีกำหนด และการยกเลิกแผนการพัฒนาเกมลงเครื่องเพลย์สเตชัน 3[19] หลังจากการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ทางบริษัทได้เชิญนาโอกิ โยชิดะ ซึ่ง ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวางแผนงานพัฒนาเกมดรากอนเควสท์ X มาควบคุมโครงการนี้ โดยรับตำแหน่งทั้งผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง[20][21]
เพื่อพัฒนาไฟนอลแฟนตาซี XIV ให้ดีขึ้น โยชิดะวางแผนและกำหนดงานสำคัญที่ต้องรีบทำมาจำนวนหนึ่ง แรกสุด เขาต้องการเรียกคืนความเชื่อใจคืนจากผู้เล่น พร้อมกับพัฒนาเกมให้อยู่ในระดับพอเล่นได้[22] โดยออก "จดหมายจากผู้อำนวยการสร้าง" เป็นระยะ ซึ่งโยชิดะเองจะมาพูดถึงแนวทางการออกแบบเกม การเปลี่ยนแปลงในอนาคต การตอบรับจากผู้เล่น และทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการพัฒนาเกม[23] อย่างไรก็ดี ในโค้ดเกมมีการเขียนโปรแกรมบางอย่างที่ล้าสมัยและเปลี่ยนแปลงยาก ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้มากพอที่จะทำให้เกมดีขึ้นได้ ดังนั้นตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2011 ทีมงานจึงเริ่มวางแผนสร้างเกมขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น และเริ่มทำจริงช่วงเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยเริ่มจากการสร้างเกมเอนจินใหม่ และวางโครงสร้างเซิร์ฟเวอร์ใหม่[6] ในระหว่างนี้ ความพยายามของทีมงานในการพัฒนาเกมฉบับแรกให้ดีขึ้นก็เริ่มเห็นผลในแพตช์ 1.18 เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบการต่อสู้ขนานใหญ่ เพิ่มระบบโจมตีอัตโนมัติ (auto-attack) เพิ่มดันเจียนแบบอินสแตนซ์ ถอดระบบ "ความอ่อนล้า" ที่เป็นที่ถกเถียงมาตั้งแต่เริ่มเกม และเพิ่มเนื้อเรื่องของแกรนด์คอมพานีเข้ามาแทนที่เนื้อเรื่องหลัก[24] แพตช์ต่อๆ มาได้แก้ไขการเล่นเกมและวางพื้นฐานเพื่อเตรียมรับเหตุการณ์สำคัญในเกม คือการมาถึงของยุคมืดที่เจ็ด[25]
การตอบรับ
[แก้]การตอบรับ | ||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ในขณะที่เกมเวอร์ชัน 1.0 ได้รับคำวิจารณ์ในทางลบอย่างหนัก เกมเวอร์ชัน 2.0 ได้รับการตอบรับในทางบวกเป็นส่วนใหญ่ และมียอดขายที่ดี ก่อนที่เกมจะออกวางขายอย่างเป็นทางการ สื่อมวลชนเกี่ยวกับเกมและเหล่าผู้ชื่นชอบที่ได้มีโอกาสเล่นเกมก่อนต่างพบว่าเกมมีคุณภาพและการเก็บรายละเอียดที่ดีอย่างคาดไม่ถึง นักวิจารณ์ของไอจีเอ็นได้ลงรายละเอียดถึงจุดที่มีการปรับปรุงจากเกมเวอร์ชันแรกหลายจุด และมองว่า "ดูเหมือนว่าสแควร์จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ที่แก้ไขข้อผิดพลาดหลายๆ อย่างที่มาพร้อมกับการออกแบบเกมไฟนอลแฟนตาซี XIV ฉบับดั้งเดิม"[36] หลังจากการเปิดตัวอย่างน่าประทับใจที่งานเกมส์คอม 2012 เกมนี้ก็ได้รับรางวัลขวัญใจมวลชน (community choice award) จากเวทีเกมส์คอมของเดสทรักตอยด์ ทีม บก. เห็นว่า "มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อเอนจินเกม ส่วนติดต่อผู้ใช้ และระบบการต่อสู้ ทำให้เกมนี้กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกมเดิมที่ทำให้หลายคนต้องผิดหวัง"[37] อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ของเกมสปอตยังไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไหร่ เขาชื่นชมความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่ยังให้ความเห็นว่าฟีเจอร์ต่างๆ ของเกมนี้ มีความคล้ายคลึงกับเกมออนไลน์สวมบทบาทเกมอื่นๆ ในยุคใหม่ มากเกินไป[38]
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่าเกมฉบับใหม่นี้นำฟีเจอร์สำคัญๆ ของเกมออนไลน์สวมบทบาทมาใช้ได้อย่างน่าชื่นชม และแก้ไขปัญหาในฉบับดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี นักวิจารณ์จากเกมสปอตมองว่านี่เป็นข้อวิจารณ์สำคัญข้อหนึ่ง คือ "เกมนี้ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปอยู่เหนือเกมอื่นๆ ที่มีมาก่อนได้" แต่ในขณะเดียวกันก็ยังชื่นชมว่าเนื้อเรื่องของเกมถูกเขียนมาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ ก็ชื่นชมอย่างมากเช่นกัน นักวิจารณ์ของยูเอสเกมเมอร์กล่าวไว้ว่าเขาหลงรักเนื้อเรื่องและการที่ตัวละครผู้เล่นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่อง โดยกล่าวว่าเป็นวิธีสร้างโลกในเรื่องแต่งที่ได้ผลดีอย่างมาก นักวิจารณ์อีกหลายคนสนุกกับการที่สามารถใช้ตัวละครเดียวแต่เล่นได้หลายอาชีพ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เคยมีอยู่ในเกมฉบับดั้งเดิม และยังนำมาใช้ต่อในเกมฉบับใหม่ นักวิจารณ์ของยูเอสเกมเมอร์ยังกล่าวว่าแต่ละอาชีพมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันไป ทำให้รูปแบบการเล่นมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร นักวิจารณ์ของฟอร์บส์ดอตคอมมองว่ามินิเกมอย่างการคราฟท์ไอเท็มเป็นแง่มุมที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งของเกมนี้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ pm, Matt KimPosted: 13 Oct 2021 12:00, Final Fantasy 14 Surpasses 24 Million Players, Becomes Most Profitable Final Fantasy Game In the Series - IGN (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2021-10-13
- ↑ 2.0 2.1 Yoshida, Naoki (September 27, 2012). "Letter from the Producer LIVE Part III & Q&A Summary (09/27/2012)". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 13, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Yoshida, Naoki (September 14, 2012). "Data Centers/World Locations Info from the LIVE Letter". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 26, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Square Enix (August 27, 2013). Final Fantasy XIV: A Realm Reborn (Microsoft Windows). Square Enix.
Auto-translation Dictionary Active Help: The world of Eorzea is home to adventurers of various cultural and linguistic backgrounds. In order to facilitate communication in this diverse environment the game includes a feature known as the auto-translation dictionary. [...] The auto-translation dictionary contains a list of everyday words and expressions as well as game-specific terms.
- ↑ 5.0 5.1 Ashcraft, Brian (October 10, 2012). "Final Fantasy XIV Wants To Be the Standard for MMORPG Console Gaming". Kotaku. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 27, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ 6.0 6.1 Yoshida, Naoki (October 14, 2011). "Final Fantasy XIV Version 2.0" (ภาษาญี่ปุ่น). Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 15, 2015. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Cunningham, Michael A. (2012). "Final Fantasy XIV: A Realm Reborn Interview with Naoki Yoshida". RPGamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2015. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Yoshida, Naoki (November 19, 2012). "Letter from the Producer LIVE Part IV & Q&A Summary". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 9, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Inc, SQUARE ENIX. "Patch 2.1 Notes (12/14/2013)". FINAL FANTASY XIV, The Lodestone (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 24, 2021. สืบค้นเมื่อ 2021-04-04.
- ↑ Lefebvre, Eliot (January 5, 2015). "The Mog Log: Final Fantasy XIV's year in review". Joystiq. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 3, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
- ↑ NOC_NA (September 29, 2011). "Patch 1.19 Notes". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
- ↑ Gildrein (April 17, 2013). "Letter from the Producer LIVE Part VI Q&A Summary (04/17/2013)". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
- ↑ Ishaan (December 13, 2012). "Gathering And Crafting Demonstrated In Final Fantasy XIV". Siliconera. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 16, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Tong, Sophia (June 2, 2009). "Final Fantasy XIV Online Trailer Impressions". GameSpot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2014. สืบค้นเมื่อ January 3, 2016.
- ↑ 15.0 15.1 Copeland, Andrew (October 19, 2011). "Gamer Escape Interviews Naoki Yoshida- "The Truth Is Out There!"". Gamer Escape. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 4, 2018. สืบค้นเมื่อ December 27, 2020.
- ↑ 16.0 16.1 Dunham, Jeremy (June 4, 2009). "E3 2009: Final Fantasy XIV - What We Know". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 31, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Fahey, Mike (August 31, 2010). "Final Fantasy XIV Beta Is No Go". Kotaku. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 15, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ "Final Fantasy XIV Online for PC Reviews, Ratings, Credits, and More at Metacritic". Metacritic. September 30, 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 7, 2015. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Wada, Yoichi (December 10, 2010). "An Important Announcement for Final Fantasy XIV Fans". Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 6, 2014. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อKotaku
- ↑ 『ファイナルファンタジーXIV』新プロデューサー兼ディレクターに直撃インタビュー. Famitsu. January 20, 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ May 22, 2013.
- ↑ Gifford, Kevin (November 21, 2012). "The death and rebirth of Final Fantasy 14". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 16, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Yoshida, Naoki (January 21, 2011). "Letter from the Producer, I". Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 13, 2013. สืบค้นเมื่อ May 18, 2015.
- ↑ NOC_NA (July 21, 2011). "Patch 1.18 Notes". Square Enix. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 19, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ Yoshida, Naoki (January 1, 2012). "New Year's Greetings (01/01/2012)". Square Enix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 30, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn for PC Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 9, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
- ↑ "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn for PlayStation 3 Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 26, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
- ↑ "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn for PlayStation 4 Reviews". Metacritic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 1, 2013. สืบค้นเมื่อ May 15, 2014.
- ↑ Gifford, Kevin (September 25, 2013). ""I'm glad I'm back home": Famitsu reviews FF14: A Realm Reborn". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 26, 2013. สืบค้นเมื่อ September 26, 2013.
- ↑ VanOrd, Kevin (September 21, 2013). "Final Fantasy XIV Online: A Realm Reborn Review (PC)". Gamespot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 14, 2013. สืบค้นเมื่อ September 21, 2013.
- ↑ Harshberger, Adam (September 23, 2013). "Final Fantasy XIV: A Realm Reborn for PC". GamesRadar+. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2013. สืบค้นเมื่อ September 23, 2013.
- ↑ Johnson, Leif (September 11, 2013). "Final Fantasy XIV: A Realm Reborn for PC". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 13, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
- ↑ Kollar, Philip (September 20, 2013). "Final Fantasy 14: A Realm Reborn review: life after death". Polygon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 21, 2014. สืบค้นเมื่อ February 22, 2014.
- ↑ Davison, Pete (September 5, 2013). "Final Fantasy XIV Review". USgamer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 10, 2014. สืบค้นเมื่อ February 22, 2014.
- ↑ Tack, Daniel (September 9, 2013). "'Final Fantasy XIV: A Realm Reborn' Review (PC)". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 11, 2013. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
- ↑ Onyett, Charles (February 21, 2013). "Relaunching Final Fantasy XIV: A Realm Reborn". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 3, 2013. สืบค้นเมื่อ May 12, 2013.
- ↑ Caine, Beccy (August 22, 2012). "FFXIV wins Destructoid's gamescom community choice award". Destructoid. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 20, 2012. สืบค้นเมื่อ November 14, 2012.
- ↑ Toyad, Jonathan (May 3, 2013). "Changes That Seem All Too Familiar". Gamespot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 13, 2013. สืบค้นเมื่อ May 12, 2013.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/>
ที่สอดคล้องกัน